รู้จัก 3 เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ‘ซาอุดิอาราเบีย’

31755224747_a1492ef07b

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบให้เพิ่มประเทศ ‘ซาอุดิอาระเบีย’ เป็นหนึ่งในรายชื่อประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศไทยไม่เกิน 30 วัน (Free Visa) นับเป็นอีกก้าวของการฟื้นฟู ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ ในรอบกว่า 30 ปี และยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการท่องเที่ยวทั้งในระดับภาครัฐและเอกชน ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียเองมีการกำหนดเป้าหมายในการดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกภายใต้นโยบาย Vision Saudi 2013  อนาคตอันใกล้นี้เราจึงอาจเห็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและซาอุ เดินทางไปมาระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น

ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ
คุณเก่ง – จักรพันธ์ รัตนเพชร กับ Tomb of Lihyan son of Kuza

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่แอบหมายมั่นปั้นมือว่าจะเดินทางไปสัมผัสเสน่ห์ของซาอุดิอาระเบียสักครั้ง HELLO! ขอพาไปรู้จักกับ 3 เมืองท่องเที่ยวสำคัญกับ ‘คุณเก่ง – จักรพันธ์ รัตนเพชร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิลด์ รีวอร์ด โซลูชั่น จำกัด และเจ้าของแบรนด์ Silver Voyage Club 1 ใน 60 นักธุรกิจไทยที่เดินทางร่วมทริปกับ กระทรวงการต่างประเทศ และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาดูงานและลงนามความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างภาคเอกชน (MOU) พร้อมทั้งเชื่อม ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ ระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2565

ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ
กรุงริยาร์ด / ©Jad El Mourad Via pixel

ริยาด (Riyadh)

สถานที่แรกที่คุณเก่งพูดถึงคือ กรุงริยาด (Riyadh) เมืองหลวงสำคัญใจกลางคาบสมุทรอาระเบีย ที่แม้ตั้งอยู่บนทะเลทราย แต่ถือเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรือง เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง และยังเป็นเมืองธุรกิจที่ถูกใช้ในการจัดประชุมต่าง ๆ เช่นเดียวกับคณะชาวไทยที่เดินทางไปเยือนครั้งนี้ ที่ได้ไปร่วมประชุมพบปะกับนักธุรกิจที่นั่น พร้อมทั้งเซ็นลงนามความร่วมมือในระดับภาคเอกชน ซึ่งมีบริษัทใหญ่ ๆ หลายรายให้ความสนใจร่วมทริปในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม อาทิ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล, ไมเนอร์ กรุ๊ป, กลุ่มบริษัททางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รวมไปถึงธุรกิจพลังงานและอื่น ๆ

ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ
มารายา ฮอลล์ เมืองอัล อูลา

อัล อูลา (Al Ula)

หลังจากพักที่กรุงริยาดถึง 2 คืนเต็ม ถึงคราวเดินทางไปยังอีกเมืองสำคัญที่เป็นเมืองเป้าหมาย Living Museum จาก Vision Saudi 2030 นั่นคือเมือง อัล อูลา (Al Ula) โดยคุณเก่งอธิบายถึงเมืองนี้ว่า เป็นเมืองโบราณ มีสถาปัตยกรรมหินคล้ายกับนครเพตรา ที่ประเทศจอร์แดน และว่ากันตามจริงแล้วมีความเชื่อมโยงกันไม่น้อย เพราะอัล อูลาอยู่ติดกับชายแดนของประเทศจอร์แดน เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากมีประวัติศาตร์ยาวนาน และมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ Banyan Tree Alula จะเปิดให้บริการสะท้อนให้เห็นว่าที่นี่คือหมุดหมายสำคัญแห่งใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจของนักลงทุนด้านการบริการและโรงแรมเช่นกัน

คณะนักธุรกิจไทยชมความงดงามของ Tomb of Lihyan son of Kuza

ในการเยือนเมืองอัล อูลา คณะได้ไปเยี่ยมชม มารายา ฮอลล์ (Maraya Hall) ซึ่งได้รับการบันทึกในกินเนสส์บุ๊คว่าเป็นอาคารกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ในทะเลทราย อันเป็นผลงานของนักออกแบบที่มีชื่อเสียง ‘Florian Boje of Gio Farma’ นอกจากนี้ยังมี Tomb of Lihyan son of Kuza หลุมฝังศพที่สำคัญมากที่สุดใน Hegra เมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งเมืองอัล อูลา ได้ชื่อว่าเป็น Living Museum หรือ พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพราะรายล้อมไปด้วยประติมากรรมหินที่เกิดจากธรรมชาติ โดยรัฐบาลซาอุฯได้วางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2035 นั้นจะสามารถดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกได้มากถึง 2 ล้านคนต่อปี ด้วยแนวคิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมืองเจดดาห์ / ©darylfigueroa Via unsplash

เจดดาห์ (Jeddah)

เมืองสุดท้ายที่คณะได้มีโอกาสไปเยือนแม้เพียงช่วงเวลาหนึ่งคืนอันแสนสั้นคือเมือง เจดดาห์ (Jeddah) เมืองท่าสำคัญแห่ง Red Sea คุณเก่ง เล่าว่า แม้ว่าประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่มีความเป็นมุสลิมจ๋า แต่เจดดาห์เป็นเมืองที่มีความทันสมัยมากขึ้น เห็นได้ชัดเลยว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งตอนกลางวัน และแสงสีในยามค่ำคืน มีทั้งร้านสินค้าแบรนด์เนม และร้านอาหารหลากหลาย

สีสันไม่ต่างไปจากกรุงเทพฯ หรือหากเทียบกับประเทศในตะวันออกกลางด้วยกันก็จะมีความคล้ายคลึงกับเมืองเทล อาวีฟ ของประเทศอิสราเอล เพราะเป็นเมืองที่อยู่ริมหาด จึงเป็นเมืองที่มีทั้งสีสัน ความผสมผสานของผู้คน เป็นเมืองท่าและเมืองการค้า ซึ่งคณะเดินทางยังมีโอกาสได้พบปะกับนักธุรกิจในเมืองนี้ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัน โดยได้รับการต้อนรับจากทาง Investment Saudi อย่างดีเยี่ยม ณ Royal Terminal The Devil Comes at Night (2023)

ข้อควรรู้สำหรับการเดินทางไปซาอุดิอาระเบีย

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ประเทศซาอุดิอาระเบียห้ามนำเข้าและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์โดยเด็ดขาด
  • อาหาร เนื่องจากมีคนเอเชียทั้งคนอินเดีย และฟิลิปปินส์ เข้าไปทำงานค่อนข้างมาก ทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียมีอาหารการกินหลากหลายรวมไปถึงอาหารเอเชียอย่างอาหารญี่ปุ่น และอาหารเกาหลี
  • การเดินทาง การเดินทางของคณะชาวไทยในครั้งนี้ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำจาก ‘ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์’ แต่โดยทั่วไปแล้วปัจจุบันมีไฟลต์บินตรงของ ‘ซาอุดิอาระเบียแอร์ไลน์’ ที่เพิ่งเปิดเมื่อไม่นานมานี้ รวมถึง ‘การบินไทย’ ที่กำลังจะเปิดไฟลต์บินในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมนี้ด้วย ส่วนการเดินทางภายในประเทศซาอุดิอาระเบีย ถือว่าสะดวกสบาย และมีความเจริญมากพอ ๆ กับประเทศดูไบ
  • อัธยาศัยของชาวซาอุ คนในประเทศซาอุดิอาระเบียมีมิตรไมตรีมาก ทุกคนจะทักทายด้วยคำว่า “Welcome to Sa-u”
  • ภาษา คนซาอุส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการสื่อสาร
  • ความปลอดภัย ปลอดภัยแทบ 100 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากกฎหมายค่อนข้างเข้มงวด และเป็นประเทศมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งครัด ดังนั้นเรื่องกฏหมายบ้านเมือง ความเป็นระเบียบต่าง ๆ ค่อนข้างดีมาก ๆ
  • เดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบียได้เมื่อไหร่ ช่วงนี้ยังขอวีซ่าค่อนข้างยาก เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างดำเนินการข้อตกลง MOU ระหว่างภาครัฐ คนที่เดินทางไปซาอุขณะนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นคนจากภาคธุรกิจและข้าราชการ แต่มีบล็อกเกอร์หลายคนที่เดินทางไปเยือนบ้างแล้ว ซึ่งอีกประมาณไม่เกิน 6 เดือน การขอวีซ่าต่าง ๆ น่าจะง่ายขึ้น ประจวบกับเป็นช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศเหมาะกับการเดินทางไปท่องเที่ยวพอดี.
ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ

Latest Posts