“คนซาอุฯ ก็รอวันนี้เหมือนกัน” คนไทยในเจดดาห์สะท้อน 2 ชาติฟื้นสัมพันธ์ 30 ปี

maxresdefault

“นัจมะห์” ผู้อาศัยในซาอุดีอาระเบียนาน 9 ปี บอกเล่าประสบการณ์ตรงของคนไทยที่รอคอยรอวันฟื้นสัมพันธ์ 2 ประเทศ

ภาพการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 32 ปี ของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล หลังเกิดกรณีฉาว “เพชรซาอุ” เพื่อฟื้นสัมพันธ์ระหว่างสองชาติกลับมาเป็นระดับ “ปกติ” อีกครั้ง พร้อมกระชับความร่วมมือด้านการค้าและแรงงาน ทั้งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม

ไม่เพียงแค่ได้รับความสนใจจากทั้งสื่อท้องถิ่นของซาอุดีอาระเบียรวมถึงสื่อต่างประเทศหลายสำนักเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพที่ “ขนิษฐา สุขเจริญ” หรือ “นัจมะห์” คนไทยวัย 32 ปี ที่พำนักอยู่ในเมืองเจดดาห์ ตื่นเต้นและเฝ้ารอการฟื้นสัมพันธ์ครั้งนี้เช่นกัน

“จริงๆ ได้ยินมาเรื่อยๆ ว่า ไทยจะเปิดแล้วนะ เราจะเชื่อมสัมพันธ์กัน (อีกครั้ง) แล้วนะ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ช็อกว่า เห้ย ! มันเกิดขึ้นจริง ๆ หรอ” นัจมะห์ สตรีไทยผู้ใช้ชีวิตในเมืองเจดดาห์ กล่าวด้วยน้ำเสียงอันตื่นเต้นระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ

หลังเธอเห็นรายงานข่าวการฟื้นสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายอีกครั้ง แม้การสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอล นัจมะห์จะสวมผ้าคลุมศีรษะมิดชิดตามธรรมเนียมศาสนาอิสลาม ทว่าสายตาและท่าทางของเธอแสดงถึงความรู้สึกดีใจอย่างมาก

นัจมะห์ เผยว่า เธอติดตาม “ดร.อาซิส” ผู้เป็นสามีมาพำนักยังเมืองเจดดาห์ เมืองท่าสำคัญของซาอุดีอาระเบีย ริมฝั่งทะเลแดงตั้งแต่ปี 2013 หลังจากที่สามีได้รับตำแหน่ง รศ.ดร. อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารโลจิสติกส์ ที่มหาวิทยาลัยคิง อับดุลอาซิส (King Abdulaziz University) อีกทั้งเมืองนี้ยังอยู่ใกล้กับเมืองศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองของอิสลามคือ “มักกะฮ์” และ “เมดินา”

แม้เจดดาห์จะอยู่ใกล้กับ “ดินแดนฮะรอม” ของอิสลาม แต่นัจมะห์กลับรู้สึกการช็อกทางวัฒนธรรมจากวิถีการใช้ชีวิตของชาวซาอุฯ ที่แม้จะเป็นมุสลิมเหมือนกันก็ตาม

เธอเผยว่า ช่วงแรกที่ไปอยู่เมืองเจดดาห์แทบไม่เห็นชาวซาอุฯ คนท้องถิ่นทำงานเลย “เวลาไปห้างหรือสถานที่ต่างๆ เจอคนต่างชาติทำงาน แล้วคนซาอุฯ เค้าไปไหนกัน เราก็งง ๆ ในช่วงแรกนะคะ คือไปทุกที่มีแต่คนต่างชาติทำงาน คนฟิลิปปินส์ ปากีสถาน บังกลาเทศ อียิปต์ ซีเรีย”

นัจมะห์ อธิบายว่า เหตุที่ไม่ค่อยเห็นคนท้องถิ่นทำงานอาจเนื่องด้วย 2 สาเหตุหลักคือ ความเชื่อทางศาสนา และอีกส่วนคือ คนท้องถิ่นได้รับสวัสดิการหลายอย่างรัฐบาล ทำให้ไม่จำเป็นต้องขยันทำงานเพื่อสร้างตัวอะไรกันมากมาย ส่วนชาวซาอุฯ ที่เป็นเจ้าของกิจการ หากมีลูกจ้างเป็นชาวต่างชาติ นายจ้างยังได้อุดหนุนค่าวีซ่าจากรัฐบาลด้วยเช่นกัน หากนายจ้างชาวซาอุฯ รับรองวีซ่าทำงานให้แรงงานต่างชาติ

“ปี 2013 ซาอุฯ ยังมั่งคั่งอยู่ เขาได้สวัสดิการของรัฐส่วนมาก จึงไม่ค่อยขยันทำงานสร้างตัวอะไรกันมาก ค่าครองชีพถูกมาก น้ำมันลิตรละ 4 บาท น้ำมัน 95 แบบพรีเมียมด้วยนะคะ”

จากเข้มงวด สู่ เปิดกว้าง

ปี 2013 ช่วงที่นัจมะห์ไปใช้ชีวิตในซาอุฯ ภายใต้รัชกาลของกษัตริย์อับดุลลาห์ สังคมซาอุฯ ยังคงยึดจารีตตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเข้มงวด ผู้หญิงมุสลิมห้ามออกนอกบ้านไปข้างนอกเพียงลำพัง การเดินกันระหว่างชายหญิงหากไม่ใช่สามีอาจถูกตำรวจศาสนาเรียกตรวจได้ การไปไหนของผู้หญิงคนเดียวโดยไร้ญาติไปด้วย อาจตกเป็นเป้าสายตาจากผู้คนได้

“หลายอย่างยังปิดอยู่ มากๆๆ เลยค่ะ การออกไปภายนอกของผู้หญิงคนเดียวยังแทบเป็นไปไม่ได้ ผู้หญิงที่เป็นต่างชาติที่แม้ไม่ใช่มุสลิม ก็ยังต้องแต่งชุดปิดมิดชิด เราสัมผัสได้ว่าเค้ายังไม่เปิดมากค่ะ”

“แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว” นัจมะห์เปรียบเทียบว่าภายหลังการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินสู่รัชกาล สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน สังคมซาอุฯ เปลี่ยนชนิดพลิกฝ่ามือ “ซาอุฯ เปิดกว้างมากชนิดช็อกโลกละ ตั้งแต่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ จากก่อนหน้านั้นที่สตรีไม่อาจขับรถได้ แต่ตอนนี้ผู้หญิงทำใบขับขี่ได้แล้ว ชาวต่างชาติหรือสตรีต่างชาติสามารถขับรถได้”

“กิจกรรมของผู้หญิงมีมากขึ้น จากแต่เดิมผู้หญิงมีข้อจำกัดมาก ตอนนี้มีร้านสปา ซาลอน โรงภาพยนตร์ ที่เปิดเฉพาะผู้หญิง ผู้หญิงซาอุฯ เริ่มทำงานมากขึ้น หลายบริษัทมีแผนกเฉพาะสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงเข้าชมการแข่งกีฬาได้ แต่นั่งคนละส่วนกับผู้ชาย” นัจมะห์อธิบายว่า แม้การเปิดกว้างของสตรีซาอุฯ มีมากขึ้นแต่ทุกอย่างยังคงเป็นไปใต้กรอบศาสนา

“การแต่งตัวของผู้หญิงต่างชาติในตอนนี้ ไม่ได้เข้มงวดเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องคลุมผ้าคลุมแล้ว ออกไปข้างนอกได้โดยที่ไม่ตกเป็นเป้าสายตาเหมือนแต่ก่อน”

เพชรซาอุฯ แผลเก่า 30 ปี

ก่อนหน้าการเยือนของ พล.อ. ประยุทธ์ สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของซาอุฯ หลายแห่งต่างให้ความสนใจรายงานข่าวการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ สื่อหลายแห่งกล่าวถึงกรณีอื้อฉาวเมื่อ 32 ปีก่อน เรื่องนี้ในมุมมองของนัจมะห์ แม้อายุของเธอจะเทียบเท่ากับห้วงเวลาที่สองชาติมีปัญหา แต่จากประสบการณ์ในฐานะคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในซาอุดีอาระเบีย นัจมะห์เผยว่าเธอไม่เคยถูกชาวซาอุฯ แสดงท่าทีเหยียดหยามเลย

“เค้าไม่พูดถึงเรื่องในอดีตเลยเราก็รู้แหละ ว่าคนไทยรู้สึกผิดมาตลอด แต่ว่าเค้าไม่พูดถึง งั้นโอเค เราก็ Move On ไปด้วยกันละกัน นัจมะห์ ไม่เคยเจอคนซาอุฯ เหยียดเลย เคยไปโรงเรียนลูก แล้วพบปะผู้ปกครอง พอบอกมาจากประเทศไทย เค้าก็ว้าวนะ ว่าแบบ เห้ย ! มาได้ไง คนในประเทศ ก็ไม่ได้แค้นอะไรนะ เค้ารอวันนี้มานานเหมือนกัน

30 ปีที่ผ่านมาก็จากคนไม่กี่คน เราอย่าให้เกิดขึ้นอีกเลย” นัจมะห์ พูดสะท้อนจากมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวที่เธอสัมผัสมาตลอด 9 ปีของการใช้ชีวิตในแดนอาระเบีย

โอกาสทองของแรงงานไทย (อีกครั้ง)

นัจมะห์ ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวประชาชาติว่า การฟื้นสัมพันธ์ (อีกครั้ง) นับว่าเป็นโอกาสทองของแรงงานไทย เนื่องจากที่ซาอุฯ พึ่งพาแรงงานต่างชาติเยอะมาก โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการที่มาจากฟิลิปปินส์ และอินเดีย

แต่ในมุมมองของเธอเชื่อว่า “แรงงานไทย” โดดเด่นในภาคบริการไม่แพ้กับแรงงานจากชาติอื่นๆ “คืออยากให้คนไทยลงทุน หรือหาทางลงทุนในซาอุมากขึ้น คนซาอุฯ ก็ชอบความเป็นไทยด้วยเหมือนกัน เชื่อว่าหลังฟื้นความสัมพันธ์แล้ว ไทยก็จะเป็นเป้าหมายการเดินทางของชาวซาอุฯ ในการรักษาพยาบาล หรือการท่องเที่ยว เชื่อว่าไทยจะเป็นอีก Destination หนึ่งที่คนซาอุฯ จะต้องนิยมไปค่ะ”

Latest Posts